สารให้ความหวาน ทดแทนน้ำตาล หญ้าหวาน อิริทริทอล Erythritol - Healthplatz res

สารให้ความหวาน แบบไหนใช้แทนน้ำตาลดีต่อสุขภาพ คู่มือฉบับเต็ม

สารให้ความหวาน ปัจจุบันมาแรงมากในหมู่ผู้ดูแลสุขภาพ หรือแม้แต่กลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะความหวานจากน้ำตาลนั้นเป็นเพชฆาตตัวฉกาจที่บั่นทอนอายุของเราได้ร้ายมากกว่าบุหรี่เสียอีก และน้ำตาลยังเป็นศัตรูอันดับ 1 ของสุขภาพอีกทั้งยังเป็นตัวก่อโรคภัยมากมายให้คนในยุคนี้ (แนะนำให้คลิ๊กที่นี่เพื่ออ่านบลอค ทำไมน้ำตาลถึงอันตรายและเหตุผลที่ควรละเลิกน้ำตาล) บลอคนี้บอกเลยว่าเซฟเก็บเป็นคู่มือในการเลือกสารให้ความหวานแบบต่างๆ เราจะมาทำความรู้จักแบบละเอียดทั้งความหวานตามธรรมชาติ และแบบสังเคราะห์รวมทั้งแบบไหนที่คนเป็นเบาหวานทานได้บ้าง

สารให้ความหวาน แบบไหนใช้แทนน้ำตาลดีต่อสุขภาพคู่มือฉบับเต็ม

การลด ละ เลิกทานน้ำตาลสำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องยากมากแต่หลายๆคนกลับพบว่าการค่อยๆลดความหวานจะทำให้ลิ้นของเราปรับความชอบหวานลดลงตามลำดับได้เอง ทั้งนี้ในวงการแพทย์และนักโภชนาการทั่วโลกเองก็ออกมาเผยความอันตรายของการทานหวานจากน้ำตาลที่มีผลเสียต่อร่างกายมหาศาล Healthplatz เองก็สนับสนุนให้ทุกคนลดทานความหวานด้วยเช่นกัน สำหรับบางคนหรืออาหารบางประเภทที่เราต้องมีความหวานเข้ามาสักนิดหน่อยให้พอชื่นใจ เราก็จัดตัวเลือกมาให้หลายแบบแทบจะครบ ทั้งชนิดที่ให้ความหวานจากธรรมชาติ ชนิดที่สังเคราะห์ แบบที่ดีต่อสุขภาพ มีทั้งแบบแคลอรี่ต่ำและไร้แคล ข้อพึงระวัง และแบบที่คนเป็นเบาหวานทานได้ พิจารณาเลือกตามที่เหมาะกับตัวเองนะคะ

สารให้ความหวาน ตามธรรมชาติ 

1. น้ำผึ้ง (Honey)

ศาสตร์ทางการแพทย์ของหลายประเทศใช้น้ำผึ้งในการรักษาอาการป่วย มีพรีไบโอติกส์ และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดอาการอักเสบและโรคผิวหนังต่างๆ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้แก่ร่างกาย ช่วยบำรุงสมองและความงาม ในทางเคมีนั้นน้ำผึ้งมีสารประกอบหลัก ๆ ที่เหมือนกันกับน้ำตาลทราย คือ “กลูโคส” และ “ฟรุกโตส” มากถึง 70% รวมถึงมีซูโครสอยู่ 10% ด้วย และแม้ว่าน้ำผึ้งจะมีแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอยู่บ้าง แต่ต่างกันตรงที่น้ำผึ้งมีน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ร่างกายจึงสามารถดูดซึมไปใช้ได้เร็ว นอกจากนี้น้ำผึ้งยังมีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระด้วย น้ำผึ้งจึงถือว่าเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติที่ดีชนิดหนึ่ง แต่ด้วยแคลอรี่ที่สูงกว่าน้ำตาลทรายแต่ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ จึงควรระวัง ปริมาณในการรับประทานเป็นพิเศษเช่นกัน

2. น้ำตาลมะพร้าวหรือน้ำตาลโตนด (Coconut sugar)

ให้พลังงานสูงแต่ค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ นอกจากจะมีกลิ่นและรสชาติที่หอมหวาน น้ำตาลมะพร้าว/น้ำตาลโตนด ถือเป็นอาหารกลุ่มที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำคือ 35 จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้นเร็วจนเกินไป ดังนั้นจะทำให้อินซูลินเพิ่มระดับอย่างช้าๆ ทำให้รู้สึกอิ่มนาน เป็นแหล่งความหวานที่ให้แคลอรี่ต่ำกว่าน้ำตาลทั่วไป และมีโพแทสเซียมช่วยควบคุมความดันและน้ำตาลในเลือดด้วย ยิ่งไปกว่านั้นน้ำตาลมะพร้าวยังมีแร่ธาตุอื่น ๆ รวมทั้งวิตามินบางชนิดที่น้ำตาลทรายแดงไม่มี ความหวานจากน้ำตาลมะพร้าวเป็นความหวานแบบสดชื่นที่ช่วยลดอาการอ่อนเพลียให้ร่างกายได้อีกด้วย

ทั้งน้ำผึ้งและน้ำตาลมะพร้าวล้วนมีฟรุกโทส อยู่ในปริมาณมาก ฟรุกโทส เป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่จะได้จากผักผลไม้ น้ำผึ้งและกากน้ำตาล รวมถึงน้ำตาลที่อยู่ในรูปของน้ำตาลปี๊บและน้ำตาลปาล์มด้วย ส่วนในทางการค้านั้น ส่วนใหญ่จะผลิตน้ำตาลจากข้าวโพดมากที่สุด ซึ่งก็จะใช้เป็นสารให้ความหวานในเครื่องดื่มต่างๆแทนน้ำตาลทราย นั่นก็เพราะว่าน้ำตาลชนิดนี้มีความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.2 เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามน้ำตาลชนิดนี้ก็อาจเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดได้เหมือนกัน เพียงแต่จะน้อยกว่าน้ำตาลซูโครส ทั้ง ฟรุกโทส ยังมีดัชนีน้ำตาลที่ต่ำแค่ประมาณ 20 จึงนิยมนำมาใช้เป็นสารเพิ่มความหวานในอาหารของผู้ที่ป่วยเบาหวานนั่นเอง

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟรุกโทสจะสามารถใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ ก็ต้องระมัดระวังในปริมาณที่ทานด้วย ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ส่งผลต่อการเพิ่มระดับน้ำตาลแต่ก็เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถทานน้ำตาลฟรักโทสได้แต่ต้องทานในปริมาณที่พอเหมาะ ส่วนผู้ที่มีค่าไขมันผิดปกติก็ควรหลีกเลี่ยงการทานฟรุกโทสในปริมาณมากอย่างเด็ดขาด เพราะหากได้รับมากเกินไปก็จะส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลรวม ไตรกลีเซอไรด์และแอลดีแอลคอเลสเตอรอลเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมไปถึงภาวะต่อต้านอินซูลิน เบาหวานประเภท 2 โรคอ้วน ไขมันพอกตับและโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบเผาผลาญ

3. น้ำเชื่อมเมเปิ้ล (Maple syrup)

เป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติ 100% ที่มีความหวานมากกว่าน้ำตาลจากอ้อยถึง 3 เท่า แต่มีแคลอรี่น้อยกว่า และไม่ผ่านกระบวนการทางเคมีเลย ทำให้เมเปิ้ลไซรัปค่อนข้างปลอดภัยกว่าน้ำตาลทั่วไป และยังมี Zinc ที่ช่วยบำรุงเลือดและการทำงานของหัวใจอีกด้วย

4. น้ำเชื่อมจากเกสรดอกไม้ (Agave nectar)

Agave nectar ที่เป็นหนึ่งสารให้ความหวานจากธรรมชาติ ผลิตจากต้นว่านหางจระเข้ ที่ถึงแม้จะมีแคลอรี่เยอะกว่าน้ำตาล แต่ด้วยรสชาติที่หวานกว่า เราจึงสามารถควบคุมปริมาณในการปรุงให้น้อยลงได้ คือใส่น้ำเชื่อมเพียงนิดเดียว แต่ได้รสหวานเท่ากับการใส่น้ำตาลในปริมาณมากๆ และที่สำคัญ Agave nectar ยังมีไฟเบอร์ “พรีไบโอติก” ที่ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย

5. อินทผาลัม (Dates)

อินทผาลัม ใช้แทนน้ำตาลในขนมเพื่อสุขภาพหลายอย่าง ถือเป็นผลไม้ที่ให้ความหวานสูงมากตามธรรมชาติ และมาพร้อมสารอาหารที่ดีต่อร่างกายมากมาย ไฟเบอร์สูง ใน 1 ผลมีไฟเบอร์ถึง 2 กรัม และประกอบด้วยน้ำตาลฟรุคโตสซึ่งไม่เหมาะเท่าไหร่นักสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวานแม้ว่าจะมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำ หมายความว่า ไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผันผวนรวดเร็วแต่ผู้ที่เป็นเบาหวานไม่ควรทานเกินครั้งละ 1-2 ผลเท่านั้น

คำเตือน

แม้ว่าแหล่งความหวานจากธรรมชาติ 5 ข้อข้างบนจะถูกใช้เป็นทางเลือกเพิ่มความหวานแทนน้ำตาลทรายโดยหลายคนเพราะมีสารอาหารอื่นๆที่ดีต่อสุขภาพ ผู้ที่เน้นทานแบบสุขภาพดีทางสายกลางสามารถทานได้แบบพอประมาณ แต่!ทั้งหมด 5 ข้อก็ยังให้พลังงาน (มีแคลอรี่)และบางข้อให้พลังงานสูงกว่าน้ำตาลปกติเสียอีกและถึงแม้จะมี ค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำ คือเมื่อทานเข้าไปแล้วไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูง แต่ผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรต้องระวังอย่างมากหรือควรหลีกเลี่ยงค่ะ เพราะน้ำตาลที่ได้จากแหล่งเหล่านี้ไม่แตกต่างเท่าไหร่นักจากน้ำตาลทราย และตับของเราก็แยกความแตกต่างเหล่านี้จากน้ำตาลไม่ออก ผู้ที่ต้องการตัดขาดน้ำตาลเด็ดขาด (รวมทั้งผู้ที่ทานคีโต) จึงควรงดอาหารกลุ่มนี้ไปด้วย

6. หญ้าหวาน (Stevia)

ถือเป็นสารแทนความหวานที่เป็นธรรมชาติและแพร่หลายที่สุดชนิดหนึ่ง ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 200 – 300 เท่า แต่มีพลังงานน้อยมากหลายครั้งใช้เป็นสารความหวานที่ไร้แคลอรี่ หรือ 0 แคลอรี่ ไม่มีไขมัน และไม่มีคาร์โบไฮเดรตจึงเป็นทางเลือกยอดนิยมสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำหนักและผู้ที่เป็นเบาหวาน เพราะไม่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้นเมื่อทานเข้าไป คุณสมบัติที่ทนความร้อนได้ถึง 200 องศาเซลเซียสโดยไม่สลายตัว ทำให้สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย มีทั้งแบบผง แบบ น้ำเชื่อมหญ้าหวาน ใช้เติมดื่มกับกาแฟ หรือน้ำไปต้ม ผัด แกงทอดด้วยอุณภูมิสูงได้อย่างปลอดภัย

 

น้ำเชื่อมหญ้าหวานออร์แกนิคที่เราแนะนำ

ข้อควรระวัง สตีเวียในบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการบวมน้ำ คลื่นไส้หรือมีลมในทางเดินอาหารได้ นอกจากนี้บางคนอาจไม่ชอบรสชาติขมที่ปลายลิ้นซึ่งเป็นรสชาติเฉพาะตัวของหญ้าหวาน อีกทั้งในท้องตลาดอาจมีการนำหญ้าหวานไปผสมกับ สารทดแทนความหวานแบบอื่นที่มีแคลอรี่หรือส่วนผสมอื่นที่มีแต่ค่าดัชนีน้ำตาลสูงจึงควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนเลือกซื้อ

7. หล่อฮั้งก้วย (Monk Fruit)

มีความหวานกว่าน้ำตาลประมาณ 150-200 เท่า ด้วยสารในตัวที่เรียกว่าโมโกรไซด์ (Mogrosides) ซึ่ง ถือได้ว่าเป็นพืชจีนโบราณที่มีสรรพคุณทางยา เป็นความหวานที่ไม่ต้องทำให้กังวลเรื่องแคลอรี่ เพราะไม่มีแคลอรี่ ไม่มีคาร์บ ไม่มีโซเดียมและไม่มีไขมัน ปัจจุบันจึงกำลังได้รับความนิยมนำหล่อฮั้งก้วยมาใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลอย่างสูงมากเช่นเดียวกับหญ้าหวาน มีกลิ่นที่หอมหวานเหมาะกับกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักซึ่งหล่อฮังก้วยได้รับการรับรองโดย USFDA หล่อฮั้งก้วยมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญอย่างไกลโคไซด์ (Glycosides) และซาโปนิน (Saponins) ที่มีผลในการส่งเสริมสุขภาพต่างๆ และช่วยป้องกันการหลั่งฮีสตามีนซึ่งเป็นสาเหตุของอาการแพ้อีกด้วย

นอกจากนี้น้ำตาลหล่อฮั้งก้วยที่ได้จากธรรมชาติ ยังปลอดภัยในเด็ก สตรีมีครรภ์ และแม่ที่ให้นมบุตร และโมโกรไซด์ (Mogrosides) ที่เป็นต้นกำเนิดความหวานในพืชชนิดนี้ยังถือเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง โดยมีค่าดัชนีน้ำตาลที่ต่ำผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถทานได้

8. อิริทริทอล (Erythritol)

น้ำตาลอิริทริทอล คือ สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ให้แคลอรี่ต่ำและถูกจัดว่าปลอดภัยต่อร่างกาย โดยปกติอิริทริทอล คือ แอลกอฮอล์ของน้ำตาล (Sugar alcohol) ซึ่งพบได้ในผลไม้บางชนิด ผลิตโดยการหมักน้ำตาลกลูโคสด้วยยีสต์ อิริทริทอล (Erythritol) มีความหวานเท่ากับ 70% ของน้ำตาลทรายและให้พลังงานเท่ากับ 0.24 กิโลแคลอรี่ต่อกรัมหรือให้พลังงานเพียงแค่ 6% ของน้ำตาลปกติ  สารให้ความหวานในกลุ่มแอลกอฮอล์ของน้ำตาลนี้มีข้อดีตรงที่ดูดซึมช้าและไม่สมบูรณ์ จึงไม่ทำให้มีการหลั่งอินซูลินรวดเร็วเหมือนน้ำตาลกลูโคสหรือน้ำตาลทราย จึงใช้ในผู้ป่วยเบาหวานได้ดี นอกจากนี้ยังไม่มีผลเพิ่มไขมันในเลือดเช่น คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ 

อิริทริทอล มีรสชาติความหวานคล้ายน้ำตาลมาก เมื่อชิมครั้งแรกให้ความรู้สึกเย็น และมีเนื้อสัมผัสเหมือนน้ำตาลปกติอีกทั้งมีความปลอดภัยสูงและมีค่าดัชนีน้ำตาล (glycemic index) ที่ต่ำมากแค่ 1 จาก 100 ซึ่งเป็นระดับของน้ำตาลกลูโคส แอลกอฮอล์ของน้ำตาลมีลักษณะพิเศษคือจะไม่ถูกดูดซึมเข้าร่างกายในกระเพาะอาหารแต่จะถูกส่งต่อไปยังลำไส้เล็กซึ่งจะถูกดูดซึมได้แค่บางส่วน และส่งต่อไปยังลำไส้ใหญ่มีแบคทีเรียคอยทำหน้าที่แปรสภาพอยู่ ดังนั้นไม่ควรทานในปริมาณมากเกินไปเพราะอาจมีผลทำให้เกิดแก๊สในระบบย่อยอาหารได้

สารให้ความหวาน 3 ข้อด้านบนได้แก่ หญ้าหวาน(Stevia) หล่อฮั้งก้วย (Monk Fruit) และอิริทริทอล (Erythritol) เป็นตัวที่มีความปลอดภัยสูง และผู้ที่เป็นเบาหวานสามารถทานได้ เหมาะสำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วน และผู้ที่ทานอาหารแบบคีโตเจนิค หรือแบบโลว์คาร์บ ทั้งนี้ ก่อนซื้อแนะนำให้อ่านรายละเอียดและเลือกแบบที่ได้มาจากกระบวนการผลิตธรรมชาติและมีส่วนผสมของสารให้ความหวานแบบอื่นเจือปนน้อยที่สุด

9. สารให้ความหวาน ไซลิทอล (Xylitol)

ไซลิทอล คือ แอลกอฮอล์ของน้ำตาล (Sugar alcohol) อีกชนิดหนึ่งที่มีความหวานคล้ายน้ำตาล โดยให้พลังงานที่ 2.4 แคลอรี่ต่อกรัมหรือ 2 ใน 3 ของน้ำตาลธรรมดา ไซลิทอลเป็นชื่อที่ยอดฮิตที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ในช่องปากเพราะมีคุณสมบัติช่วยลดฟันผุ และกระดูกพรุนได้นั่นเอง ไซลิทอล ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด และระดับอิซูลิน แต่แอลกอฮอล์ของน้ำตาลเหล่านี้หากรับประทานมากไปอาจมีผลข้างเคียงต่อระบบย่อยอาหารได้ นอกจากนี้ยังควรระวังไม่ให้สุนัข เพราะเป็นอันตรายต่อสุนัข

 

น้ำตาลเทียม (Artificial sweeteners)

1. แอสปาร์เทม (Aspartame)

เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ให้ความหวานประมาณ 160-220 เท่าของน้ำตาลทราย ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA) ให้ใช้เป็นสารให้ความหวานทั่วไปได้ (general-purpose sweetener) แม้ว่าแอสปาร์เทมจะให้พลังงานเท่ากับน้ำตาลทราย คือ 4 กิโลแคลอรี่ต่อกรัม แต่เนื่องจากแอสปาร์เทมมีความหวานมาก จึงใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อย ก็สามารถจะให้ความหวานเทียบกับน้ำตาลทรายได้ ดังนั้นจึงสามารถให้ความหวานที่เท่ากับน้ำตาลทราย แต่ให้แคลอรี่ที่น้อยกว่ามาก

แอสปาร์แทม อยู่ในสารให้ความหวานที่มีชื่อทางการค้า ได้แก่ “NUTRASWEET / EQUAL / SUGAR TWIN” โดยสารนี้สำหรับคนไทยเรานั้นก็ค่อนข้างเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่มหรือขนมหวานหลายประเภท

ข้อเสียของแอสปาร์เทม คือ จะมีรสขมเมื่อใช้ในปริมาณมาก ไม่ทนความร้อน ดังนั้นจึงไม่สามารถนำไปใช้ในเครื่องดื่มหรืออาหารที่ต้องมีการหุงต้ม อบ นอกจากนี้จะไม่ค่อยคงตัวเมื่ออยู่ในของเหลว เช่น เครื่องดื่ม เป็นระยะเวลานาน

แอสปาร์เทมนี้ เป็นสารให้ความหวานที่มักมีผู้คนตั้งข้อกังขาอยู่เป็นระยะ เนื่องจากมีรายงานว่าเป็นสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ก็มีการเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางจิตประสาทต่างๆ เช่น อาการตื่นตระหนก อารมณ์แปรปรวน ภาพหลอน อาการตื่นตกใจ มึนงง และอาการปวดศรีษะในบางคน แต่ก็มีรายงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของแอสปาร์เทมที่โต้แย้งว่า ขนาดที่ใช้ในคนในปัจจุบันยังมีความปลอดภัยอยู่ และด้วยข้อกังขาข้างต้นเหล่านี้เอง ทำให้คู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์สารให้ความหวานอื่นๆ โฆษณาว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆนั้น “ปราศจากแอสปาร์เทม”

2. ซูคราโลส (Sucralose)

เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งมีความหวานสูงเป็น 600 เท่าของน้ำตาลทราย ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA)ให้ใช้เป็นสารให้ความหวานทั่วไปได้ (general-purpose sweetener) ซูคราโลสมีข้อดีคือ รสชาติดี คล้ายน้ำตาล ไม่มีรสขม ใช้ได้หลากหลาย ทนความร้อนในการหุงต้มและอบ มักได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในการทำเบเกอรี่

เป็นสารที่ไม่มีพลังงานแถมยังไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินอีกด้วย เป็นสารให้ความหวานที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับสารให้ความหวานอื่น จึงยังมีการศึกษาไม่มาก คงต้องติดตามการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ซูคราโลสในระยะยาว ต่อๆไป ปริมาณของซูคราโลส ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยในคน (ADI) เท่ากับ 15 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน

ข้อมูลวิจัยเท่าที่มีสรุปได้ว่า ทานซูคราโลสแล้วยังไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ ไม่ก่อให้เกิดพิษแบบสะสม ไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อส่วนของยีน ไม่ได้เป็นสารที่สามารถก่อมะเร็ง ไม่มีผลต่อระดับของอินซูลินในร่างกายและที่สำคัญยังไม่มีผลต่อตัวทารกหากคุณแม่จะทานเข้าไป เพราะ สารนี้ไม่สามารถผ่านเข้าไปในบริเวณน้ำนม

3. แซ็กคาริน (Saccharin)

หรือขัณฑสกรนั่นเอง เป็นสารที่ให้ความหวานที่ใช้มาแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันสถานะของขัณฑสกรถือว่าปลอดภัย  เคยต้องถูกระงับการขายไป เนื่องจาก มีงานวิจัยพบว่าสารตัวนี้หากทานไปแล้วสามารถที่จะก่อให้เกิดมะเร็งที่บริเวณของกระเพาะอาหารได้ แต่เมื่อไม่นานมานี้กลับมีงานวิจัยชิ้นใหม่ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสารตัวนี้ไม่ได้เป็นสารที่ไม่สามารถก่อให้เกิดมะเร็งได้แต่อย่างใด ทำให้สารตัวนี้กลับมาได้รับอนุญาตให้วางขายได้ใหม่อีกรอบที่สหรัฐอเมริกา

สารตัวนี้เป็นสารที่ให้ความหวานสูงเรียกว่า สูงกว่าน้ำตาลทั่วไปถึง 200-700 เท่าเลยก็ว่าได้และที่สำคัญไม่ได้เป็นตัวที่ให้พลังงานมักอยู่ภายในเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มไดเอต สามารถนำไปใช้ในน้ำดื่มหรือน้ำผลไม้ได้สบาย ๆ ทางองค์การอนามัยโลกก็ได้ออกมาให้คำแนะนำไว้ว่าระดับความปลอดภัยที่ควรมีอยู่ที่ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักร่างกายหนึ่งกิโลกรัม

ดังนั้นสำหรับบุคคลที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วนควรต้องมีการกำหนดปริมาณของสารตัวนี้และไม่แนะนำให้นำสารนี้ไปใช้ในอาหารทั่วไป นอกจากนี้ยังไม่แนะนำให้เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์ทานสารตัวนี้

สารให้ความหวานที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้ในอาหาร
ชนิด ความหวาน X เท่าของน้ำตาล ระดับ ADI (มก./กก./วัน)
Acesulfame K
อะเซซัลเฟมโพแทสเซียม
200 15
Advantame
แอดวานแทม
20, 000 32.8
Aspartame
แอสปาร์แทม
200 50
Monk Fruit
หล่อฮังก้วย
100-250 ปลอดภัยทุกปริมาณ
Neotame
นีโอแทม
7,000-13,000 0.3
Saccharin
แซ็กคาริน
200-700 15
Stevia Reb
สตีเวีย
 200-400 4
Sucralose
ซูคราโลส
600  5

 

*ADI = ปริมาณ (โดยทั่วไปเป็นมิลลิกรัม) ต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว ที่คนสามารถจะรับประทานได้อย่างปลอดภัย ทุกวัน ตลอดช่วงชีวิต โดยไม่มีความเสี่ยง)

ข้อสรุปสำหรับการใช้น้ำตาลเทียม แม้ว่าทานแล้วจะไม่ได้ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่ม ไม่ได้ทำให้น้ำหนักของร่างกายเพิ่ม แต่ก็ควรทานแค่พอดีควบคู่กับการปรับเรื่องของการลดการทานหวานควบคู่ไปด้วย เพราะผลิตภัณฑ์ที่บอกว่าไม่มีน้ำตาล หรือ เบาหวานทานได้ที่มีอยู่ในตลาดจำนวนมากอาจมีผลต่อการทำงานของร่างกาย และน้ำตาลเทียมยังทำให้คุณเสพติดรสหวานต่อไป

น้ำตาลเทียมอาจยังมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ดี 

การทดลองในปี 2016 โดยให้คนที่มีน้ำหนักปกติตามเกณฑ์ทานน้ำตาลเทียมพบว่า คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มเป็นเบาหวานมากกว่าคนที่น้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนอยู่แล้ว นอกจากนี้การศึกษาปี 2014 ระบุว่า แซ็กคาริน สามารถเข้าไปมีผลต่อระบบสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ทำให้ส่งผลต่อเนื่องกลายเป็นโรค การเผาผลาญอาหารของร่างกายที่ผิดปกติไป (metabolic syndrome) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่โรคเบาหวาน

แม้การทานน้ำตาลเทียมในระยะสั้นเชื่อว่าจะเชื่อลดน้ำหนัก และควบคุมเบาหวานได้ แต่การใช้ในระยะยาวยังน่าเป็นห่วงและไม่แนะนำ หากต้องการความหวานจริงๆแนะนำให้ทานเป็นสารให้ความหวานตามธรรมชาติ หญ้าหวาน หล่อฮั้งก้วย และอิริทริทอล หรือทานน้ำตาลจากธรรมชาติในปริมาณแต่น้อย และออกกำลังกายควบคู่อย่างสม่ำเสมอ

 

————————————————————————

Cover image credit medicalxpress.com

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก Healthline Fest for Food | Medical News Today | Mahidol | AmProHealth