โยโย่ เอฟเฟค คือ อาการและทางแก้ให้กลับมาเผาผลาญดีwhat's yoyo effect and how to stop weight gain

โยโย่ เอฟเฟคต์ (Yoyo effect) ฝันร้ายของคนอยากหุ่นดี มารู้จักวิธีแก้และป้องกัน

โยโย่ คือ อาการที่น้ำหนักเหวี่ยงขึ้นลง เดี๋ยวอ้วนขึ้นแล้วก็ลดน้ำหนักจนผอมจากนั้นไม่นานก็เด้งกลับมาอ้วนขึ้นอีก เป็นวงจรที่เกิดขึ้นเหมือนลูกข่างโยโย่ จึงมีชื่อเรียกว่า โยโย่ เอฟเฟคต์ (Yoyo effect) นั่นแหละ การเข้าสู่วงจร โยโย่ เอฟเฟคต์ เป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียวสำหรับหลายๆคนและทำให้มักเกิดอาการท้อแท้กับการดูแลรูปร่าง

โยโย่ เอฟเฟคต์ (Yoyo effect) รู้สาเหตุ แก้ให้ถูกจุดก็จะหลุดจากวงจรนี้ได้อย่างถาวร โดยไม่กลับไปอ้วนอีก

 

สิ่งที่แย่กว่านั้นคือ โยโย่ เอฟเฟคต์ ทำลายสุขภาพเราได้และอาจเป็นต้นทางไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆตามมาเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น แต่อย่าเพิ่งกังวลไปค่ะ คุณมาถูกที่แล้ว บลอคนี้เรามาทำความรู้จักกับ อาการโยโย่ สาเหตุ และวิธีแก้ไขที่ตรงจุดรวมทั้งป้องกันไม่ให้กลับไปสู่วงจรนั้นอีก

โยโย่ เอฟเฟคต์ (Yoyo effect) คือ

การตอบสนองกลับของร่างกายรวมทั้งจิตใจต่อการลดน้ำหนักที่หักโหม เช่น การกินยาลดความอ้วน การที่เราพยายามควบคุมอาหารโดยกินอาหารน้อยลง ลดแคลอรี่ที่ทานเข้าไปต่อวัน (calorie restriction) การอดอาหาร การเปลี่ยนชนิดอาหารโดยเลิกทานอาหารบางหมวดหมู่ เช่น คาร์โบไฮเดรต หรือการออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อใช้พลังงานให้มากกว่าที่กินเข้าไปเป็นระยะเวลานาน จนถึงจุดนึงแล้วร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพที่ทานอาหารน้อยกว่าพลังงานที่ใช้ต่อวันอย่างต่อเนื่องต่อไปได้อีก

เมื่อถึงจุดนั้น ร่างกายจะเริ่มเข้าสู่โหมดการเอาชีวิตรอด ไฮโปทาลามัส (hypothalamus) สมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการสำคัญต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตจะลดอัตราการใช้พลังงานของร่างกายลงเพื่อให้เท่ากับพลังงานที่ได้รับ นอกจากนี้ ดร. แมทธิว ธอร์ป นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกลไกของร่างกายและการไดเอทยังบอกอีกว่า เซลส์ไขมันของร่างกายเรายังมีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนชื่อ เลปติน (leptin) ซึ่งเป็นตัวสื่อสารกับสมองเมื่อร่างกายได้กักเก็บไขมันเพียงพอแล้ว แน่นอนว่าเมื่อเราลดน้ำหนัก จำนวนไขมันน้อยลงก็เท่ากับฮอร์โมนเลปตินลดลงทำให้เราหิวมากขึ้น

อาการของโยโย่ เอฟเฟคต์ สมดุลฮอร์โมนเริ่มรวน ส่งผลให้การลดของน้ำหนักจะหยุดลงอย่างกะทันหันและยังทำให้ร่างกายรู้สึกหิวต้องการพลังงานมากขึ้นเพื่อที่จะทำให้มีชิวิตอยู่ต่อไป เมื่อรวมกับการที่ร่างกายเผาผลาญน้อยลงเพื่อรักษาพลังงานไว้สืบเนื่องจากการรับแคลอรี่เข้าร่างกายไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เกิดอาหารอยากอาหาร หิวไม่จบสิ้น กินไม่หยุด ไม่อิ่มไม่พอใจ อาจถึงขั้นเป็นโรคผิดปรกติด้านการทานอาหาร (binge eating) แต่ร่างกายกลับเผาผลาญลดลง กลายเป็นวงจรที่ทำให้กลับมาอ้วนขึ้นมากกว่าก่อนเริ่มลดน้ำหนักเสียอีก

เมื่อน้ำหนักไม่ลดตามที่ต้องการก็จะก่อให้ความเครียด และการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนเครียด คอร์ติซอล(Cortisol) ความเครียดที่ก่อตัวขึ้นในร่างกายจะทำให้มีการหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Grelin Hormone) ที่ฮอร์โมนแห่งความหิวออกมามากขึ้น ซ้ำเติมสภาวะที่เกิดขึ้นหนักเข้าไปอีกส่งผลพวงต่อสุขภาพตามมาไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน โรคหัวใจ รวมถึงโรคมะเร็งได้เลยทีเดียว

ใครที่อ่านแล้วเข้าข่าย เมื่อรู้ตัวแล้วก็ขอให้อ่านต่อเพราะเรามีวิธีช่วยคุณให้หลุดวงจรนี้ได้ ก่อนอื่นเลยปรับความคิดเสียใหม่ คนเรามักตั้งเป้าหมายการลดน้ำหนักที่เกินจริง เช่น อ้วนสะสมมา 3 ปีแต่อยากจะผอมลงให้ได้หุ่นแบบก่อนหน้านี้ภายใน 3 เดือน!!! ดึงสติกลับมาสู่โลกแห่งความจริงกันนิดนึงค่ะ

อาการโยโย่ เอฟเฟคต์ และผลเสียต่อร่างกาย

การที่ร่างกายเข้าสู่วงจรของน้ำหนักเหวี่ยงขึ้นๆลงๆ ย่อมส่งผลต่อสุขภาพอย่างเลี่ยงไม่ได้ตามที่ได้เกริ่นมา ทำให้เกิดผลที่ตามมาได้แก่

1. กลับมาอ้วนขึ้นกว่าเดิม

เมื่อเราไดเอท มวลไขมันลดลงรวดเร็วอย่างผิดปกติ ฮอร์โมนเลปตินที่ทำให้เรารู้สึกอิ่มลดน้อยลงทำให้เราหิวมากขึ้น บ่อยขึ้น เพื่อชดเชยกับที่ร่างกายคิดว่ามีพลังงานในร่างกายไม่พอต่อการรอดชีวิต ร่วมกับการที่ไดเอทผิดวิธีทำให้มวลกล้ามเนื้อลดน้อยลงร่างกายยิ่งเผาผลาญได้ลดลงและต้องการเก็บพลังงานไว้ให้ได้มากที่สุด การวิจัยพบว่า 1ใน 3 ของคนที่ลดน้ำหนักแบบผิดวิธีเหล่านี้จะกลับมาอ้วนใหม่ภายในระยะเวลา 1 ปีแถมน้ำหนักยังเพิ่มขึ้นมากกว่าตอนก่อนลดความอ้วนเสียอีก อีกทั้งการลดน้ำหนักครั้งต่อไปจะยิ่งยากขึ้นกว่าเดิม

2. ไขมันเพิ่มขึ้น สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ

ในช่วงที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากโยโย่ เอฟเฟคต์อาจทำให้ไขมันสะสมในร่างกายได้ง่ายขึ้น ไขมันอาจสะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายรวมทั้งอวัยวะภายใน ซึ่งอาจส่งผลให้การลดน้ำหนักครั้งต่อไปทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมเพราะการลดน้ำหนักเร็วเกินไปร่างกายอาจสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปทำให้ระบบการเผาผลาญของร่างกายลดลงด้วย (ลองอ่านบทความนี้เพื่อรู้จักกับระบบเผาผลาญและวิธีช่วยเพิ่มอัตราการเผาผลาญของร่างกาย)  โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่คุมอาหารและไม่ออกกำลังกายร่วมด้วย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทางแก้คือทานอาหารที่มีโปรตีนให้เพียงพอในแต่ละวัน ควบคู่กับการออกกำลังกายแบบใช้แรงต้านอย่างสม่ำเสมอ

3. ปัญหาสุขภาพ

การอดอาหารหรือทานน้อยไปในช่วงต้นของการลดน้ำหนัก ทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้มีผลทำให้ผิวแห้ง เล็บและผมเปราะบาง ผมร่วงผิดปกติ ภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลง

เมื่อน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากอาการโยโย่ ยังส่งผลเสียต่อหัวใจและไตอีกด้วย ความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 การที่น้ำหนักขึ้นๆลงๆยังทำให้เพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะไขมันพอกตับ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ภาวะสูญเสียแร่ธาตุในกระดูกที่เพิ่มมากขึ้นในหญิงสูงวัย นอกจากนี้ความล้มเหลวในการลดความอ้วนยังอาจนำไปสู่การสูญเสียความเคารพในตนเอง ความมั่นใจในตัวเอง ความเครียดเรื้อรัง รวมถึงพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ

วิธีแก้และหยุดโยโย่ เอฟเฟคต์ อย่างได้ผล

เปลี่ยนวิธีคิด สุขภาพต้องมาก่อน

หันมาใช้วิธีดูแลร่างกายและรูปร่างแบบยั่งยืน ไม่ใช้ทางลัดหรือใจเร็วด่วนได้ เปลี่ยนวิธีลดน้ำหนักจากการจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารแบบช่วงสั้นๆชั่วคราว เป็นการเลือกรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพอย่างถูกวิธี และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อให้มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสมและมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว ลองเปลี่ยนเป้าหมายจากการโฟกัสที่ตัวเลขบนตาชั่งเป็นสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว ดร.ฌอน ปิแอร์ มงทานี ผู้เชี่ยวชาญด้านการลดน้ำหนักกล่าวว่า

คุณไม่จำเป็นต้องตัดอาหารที่ชอบแต่ไม่ดีต่อน้ำหนักออกไปทั้งหมด เพียงแต่ทานในปริมาณที่น้อยลง การเปลี่ยนแปลงที่ได้ผลและถาวรเกิดจากการเปลี่ยนแปลงททีละเล็กละน้อย แต่สม่ำเสมอ และที่สำคัญคือต้องผสามเข้ากับเราจนเป็นไลฟ์สไตล์ในที่สุด

 


ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก WebMD I NY Daily News I Insider I Healthline

อ้างอิงงานวิจัย https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/25614201